นามานุกรมสามก๊ก ฉบับแฟนพันธุ์แท้

 


นามานุกรมสามก๊ก ฉบับแฟนพันธุ์แท้ 

        ผมเชื่อแน่ว่า ทุกท่านที่เป็นสมาชิกแฟนเพจแห่งนี้ รู้จักและเคยอ่านผลงานของพี่อาท ชัชวนันท์ สันธิเดช เจ้าของตำแหน่งแฟนพันธุ์แท้สามก๊กและแฟนพันธุ์แท้แห่งปี 2008 มาบ้างแล้ว
ผลงานหนังสือผ่านมาทั้ง 3 เล่มของพี่อาทไม่ว่าจะเป็น
 

  • อ่านสามก๊กอย่างแฟนพันธุ์แท้
  • สามก๊กฉบับแฟนพันธุ์แท้ ตอนคิดเป็นเห็นต่าง
  • เรื่องสามก๊กพันธุ์แท้

       ต่างก็ได้รับการตอบรับจากแฟนๆ สามก๊กเป็นอย่างดี

       และวันนี้ พี่อาทก็ได้สร้างผลงานชิ้นเอก (Master peace) ขึ้นมาประดับบรรณพิภพสามก๊กแห่งสยามประเทศแล้ว ผมขอ (ยืม signature ของพี่อาท) “ชี้ชัด” ว่า หนังสือเล่มนี้
เป็นหนังสือ (อ่านประกอบ) สามก๊ก
 “รุ่นใหม่” ที่ทรงคุณค่าที่สุดในเวลานี้

       เพราะเหตุใด ผมจึงกล้า “ชี้ชัด” เช่นนั้น

     ประการแรก หนังสือเล่มนี้เป็นสิ่ง “จำเป็น” สำหรับผู้ศึกษาสามก๊กในบ้านเรา เนื่องจากข้อจำกัดหลายๆ ประการในการแปลสามก๊กฉบับมาตรฐานฉบับแรกของเรา คือ ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) เมื่อกว่าสองร้อยปีที่แล้ว เช่น การหา ผู้รู้ ภาษาและวัฒนธรรมจีนที่แตกฉาน อีกทั้งการแปลต้องดำเนินการเป็น 2 ขั้นตอน คือการถอดความจากภาษาจีนโดยล่ามจีน และการเรียบเรียงใหม่เป็นสำนวนร้อยแก้วไทยโดยเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ทำให้มีข้อผิดพลาดและขาดตกบกพร่องไปจากต้นฉบับภาษาจีนหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ชื่อตัวละคร” ซึ่งลำพังต้นฉบับหนังสือสามก๊กในภาษาจีนก็มีเป็นพันกว่าตัว และด้วยข้อจำกัดดังกล่าวของการแปลในครั้งกระโน้น ทำให้มีตัวละครตัวเดียวกัน ถูกเรียกเป็นคนละชื่อในที่ (ตอน) ต่างๆ กัน ผู้อ่านจึงเกิดความสงสัยและสับสนว่าว่าเป็นคนเดียวกันหรือไม่ เช่น “งำเต๊ก” กับ “กำเจ๊ก” และในทางกลับกัน มีตัวละครที่เป็นคนละตัว คนละคนกัน กลับเรียกชื่อเหมือนกัน เช่น “ซุนฮิว” ที่เป็นกุนซือของโจโฉ และ “พระเจ้าซุนฮิว” ที่เป็นฮ่องเต้องค์ที่ 3 ของง่อก๊ก หนังสือเล่มนี้จะเป็น “ตัวช่วย” ให้ท่านได้

     ประการที่สอง หนังสือเล่มนี้เป็นนามานุกรมสามก๊ก เล่มที่ 2 ของไทย ต่อจากฉบับของ อ.สังข์ พัธโนทัย ซึ่งมีคุณูปการต่อวงการสามก๊กบ้านเรามาช้านาน หนังสือเล่มนี้ได้ “ต่อยอด” จากนามานุกรมของ อ.สังข์ โดยบรรจุตัวละครไว้ถึง 1,125 ตัว จากการค้นคว้าเอกสารเกี่ยวกับสามก๊กทั้งฉบับจดหมายเหตุของเฉินโซ่วและฉบับวรรณกรรม ทั้งภาษาจีน อังกฤษและไทย โดยในแต่ละตัวละครได้ให้รายละเอียดที่ครบถ้วนสมบูรณ์ทั้ง

  • ชื่อตามฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ซึ่งเป็นชื่อที่เราคุ้นเคย
  • ชื่อภาษาอังกฤษ
  • ก๊กที่สังกัด โดยแสดงเป็นภาพ “โล่” ของแต่ละก๊ก ที่มีรูปร่างแตกต่างกัน
  • ชื่อภาษาจีนกลาง ถอดเสียงเป็นภาษาไทย พร้อมพินอิน, อักษรจีนตัวย่อ และอักษรจีนตัวเต็ม
  • ชื่อรองภาษาจีนกลาง ถอดเสียงเป็นภาษาไทย พร้อมพินอิน, อักษรจีนตัวย่อ และอักษรจีนตัวเต็ม
  • บรรยายรายละเอียดบุคคล

        จึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมหนังสือเล่มนี้จึงใช้เวลาเรียบเรียงและตรวจแก้กว่า 4 ปี ด้วยความพากเพียรของทั้งผู้เขียนและบรรณาธิการ จึงทำให้เราได้มี “สมบัติล้ำค่า” ชิ้นนี้มาประดับวงการสามก๊กสยาม 

        ผมเชื่อมั่นว่า หนังสือเล่มนี้จะเป็น “ตัวช่วย” ให้ทั้งนักอ่านสามก๊ก “หน้าใหม่” ไม่เกิดท้อใจก่อนที่จะอ่านสามก๊กจบ รวมทั้งแฟนสามก๊กหน้าเก่าก็จะได้ “ยกเครื่อง” ความทรงจำของตนอันเกี่ยวกับตัวละครในสามก๊กเช่นกัน

        ขอบพระคุณพี่อาท ชัชวนันท์ สันธิเดช ผู้เขียนและผู้เกี่ยวข้องทุกท่านที่ทุ่มเทกำลังแรงกายและแรงใจรังสรรค์หนังสือเล่มนี้จนสำเร็จออกมาสู่สายตาของพวกเรา ตลอดจนสำนักพิมพ์ชวนอ่าน ที่จัดพิมพ์หนังสือที่ทรงคุณค่าเช่นนี้ครับ


        ขอบคุณคอลัมน์แนะนำหนังสือ www.samkokview.com 


Print